เขมร ญวน และพม่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 [15 ส.ค. 51 - 19:55]
นิติ ภูมิได้รับคำแนะนำจากท่านผู้ใหญ่ให้ค่อยๆทยอยนำ ประวัติศาสตร์ไทยในส่วนที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับเพื่อนบ้านมารับใช้ ในคอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก เพื่อให้เยาวชนคนไทยได้รู้ประวัติศาสตร์ ชาติของตัวอย่างแท้จริง เบื้องแรก ท่านแนะนำว่ายังไม่ต้องย้อนประวัติศาสตร์ไปให้ไกลนัก ควรเริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
กราบขอบพระคุณท่านที่กรุณาแนะนำ นิติภูมิมีความคิดเช่นนี้เหมือนกันครับ ขออนุญาตเริ่มต้นที่กรณีกัมพูชา ต้นรัชกาลที่ 1 เมื่อมีข่าวว่าจามจะยกทัพมาตีเขมร พระยายมราชและพระยากลาโหม (ปก) จึงพานักองเองและพระญาติพระวงศ์เขมรเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารรัชกาลที่ 1 ของไทย
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงรับรองนักองเองอย่างพระราชบุตร บุญธรรม เมื่อไทยไปปราบจามได้แล้ว รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักองเองกลับไปครองเมืองเขมร ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี” และให้พระยาอภัยภูเบศรปกครองเมืองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ โดยให้ขึ้นกับไทยโดยตรง
3 ปีต่อมา นักองเองทิวงคต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยากลาโหมซึ่งเป็นฟ้าทะละหะเป็นผู้สำเร็จ ราชการ พอฟ้าทะละหะถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นักองจันทร์เป็น “สมเด็จพระอุทัยราชา” ไปปกครองเมืองเขมรสืบไป
เหตุการณ์ตอนปลายรัชกาลที่ 35 แห่งกรุงศรีอยุธยา ไทยเสียกรุงแก่พม่าเพราะความเสื่อมเรื้อรังในสถาบันการเมืองและสังคม คนไทยทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง บางกลุ่มทั้งดื้อทั้งบ้า ความเสื่อมยังมาจากการที่ไทยไม่มีผู้นำเด็ดขาด ไพร่พลก็ค้นหาแต่ความสุขสนุกสบาย ไม่พร้อมรบ และร้ายที่สุดก็คือ เกิดไส้ศึกภายใน
ราชอาณาจักรไทยแตกเมื่อ พ.ศ.2310 ต่อมา ไทยเราก็เข้าสู่ยุคกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปกครองบ้านเมืองอยู่นาน 15 ปี ไทยเราก็เข้ายุคกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ.2325
ณ เวลานั้น ไทยยิ่งใหญ่และเรืองอำนาจที่สุดใน “สุวรรณภูมิ”
ไม่ต้องให้ใครศาลโลกไหนมาตัดสินว่าเขมรใช่ของไทยหรือไม่ หากประวัติศาสตร์อย่างนี้แพร่ขยายกระจายออกไปเป็นหลายภาษา ประชาชนคนทั้งโลกก็จะเข้าใจความยิ่งใหญ่ของคนพันธุ์ไทยในสุวรรณภูมิได้เป็น อย่างดี
ความยิ่งใหญ่ของไทยในสมัยแรกเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์กระจายไปไพศาล แม้แต่ญวนก็ยังต้องยอมรับ รัชสมัยรัชกาลที่ 1 ของไทย ในเมืองญวนเกิดกบฏไกเซิน เจ้าในราชวงศ์ญวนคือองเชียงสือจึงเข้ามาสวามิภักดิ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอด ฟ้าจุฬาโลก พระองค์ทรงชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี
ต่อมาองเชียงสือขอกำลังไปไทยไปปราบกบฏ โชคดีที่ตอนนั้นมีกองกำลังญวนอาสาสมัคร และกองทัพฝรั่งเศสเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน พวกกบฏจึงแพ้ราบคาบ องเชียงสือเจ้าญวนที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงชุบเลี้ยงไว้ จึงได้ตั้งตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้ายาลอง พระองค์ทรงส่งเครื่องราชบรรณาการ มาถวายด้วยความระลึกในพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 1 ตลอดรัชกาล
ส่วนพม่าที่เพิ่งชนะไทยไปเมื่อ 18 ปีก่อน ตอนหลังพระเจ้าปะดุง ได้สืบราชสมบัติ ก็ยกทัพอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรมาตีไทยถึง 7 ครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1
มนุษย์พันธุ์ไทยในสมัยนั้นแข็งแกร่งและมีความสามัคคีสูง ถึงได้ชัยชนะในสงครามครั้งแรกที่พระเจ้าปะดุงจัดมาถึง 9 ทัพใหญ่ เจ้าพม่าพาทหารมามากมายก่ายกองถึงแสนสี่หมื่น ขณะที่ไทยเพิ่งเริ่มสร้างตัวและมีพลเมืองเพียงเจ็ดหมื่น
พ.ศ.2328 ไทยชนะพม่าในสงครามเก้าทัพ พม่าได้รับความอัปยศอดสู จึงเดินทางมาแก้ตัวใหม่ใน พ.ศ.2329 แต่ก็แพ้ไทยอีกที่ท่าดินแดง พ.ศ.2330 เรารบชนะพม่าที่ลำปางและป่าซาง และในปี เดียวกันนี้ ไทยยกทัพไปตีเมืองทวาย
3 ปีต่อมา เจ้าเมืองทวายขอสวามิภักดิ์ไทย พ.ศ.2340 กองทัพไทยตีพม่าแตกกระจายที่เชียงใหม่ และ พ.ศ.2345 พม่าแพ้ไทย ถูกไล่ออกจากเขตล้านนา
บัดนี้ กลาง พ.ศ.2551 การเมืองเรื่องยุ่งวุ่นวายของไทยได้สงบจบลง จึงเป็นโอกาสที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะได้มาร่วมชุมนุมสุมความคิด เพื่อรวมตัวช่วยกันสร้างราชอาณาจักรไทยให้ยิ่งใหญ่ เหมือนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช.
นิติภูมิ นวรัตน์
http://thairath.co.th/news.php?section=international01&content=100614
No comments:
Post a Comment